...ยินดีต้อนรับท่านสู่...โครงการของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช...(กิจกรรทความรู้รอบตัว)ภายใต้การบริหารจัดการ..ของ...นายมนัส ชุมทอง...ปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี..

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ครบเครื่องเรื่องคนรักหมา

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสุนัข
ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าสุนัข หรือแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีกันเกือบทุกบ้าน ด้วยสภาพของสังคม และความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเวลาการทำงานที่มีมากนัก กับสังคมที่มีการแข่งกันกันอย่างมากและตลอดเวลา ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน สัตว์เลี้ยงอาจจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับสังคมในปัจจุบัน ดังนั้นด้วยความเป็นคนเลี้ยงจึงย่อมเป็นเจ้าของ เจ้าตูบไปโดยปริยาย ความรับผิดของเจ้าของที่มีต่อเจ้าตูบจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งเรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิต การฝึก พฤติกรรม และปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าของและสัตว์อื่นๆ ด้วย ความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นเจ้าของเจ้าตูบอาจจะกินระยะเวลานาน บางครั้งต้อง การความอดทนเหมือนกัน โดยเฉพาะในยามที่เจ็บป่วย หรือพิการ รวมทั้งอาจจะหมายถึงความรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเรื่องของ เจ้าตูบเหมือนกัน คณะจัดทำเวปไซด์ ช้อปสะบัดดอท หวังอย่างยิ่งว่า จะมีประโยชน์ต่อผู้เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงน่ารัก ที่มาคัดลอกข้อความบางส่วนมาอ้างอิง มาจากเวบไซต์ http://www.vet.ku.ac.th ด้วยผู้มีความรู้โดยตรง
1. สัตว์เลี้ยงกับฟัน สำคัญไฉน?
2. โรคลำไส้อักเสบติดต่อ ยอดฮิตในสุนัข
3. การดูแลหูและโรคของหู อักเสบของสุนัข
สัตว์เลี้ยงกับฟัน สำคัญไฉน?
คุณเคยสังเกตุช่องปากและฟันสัตว์เลี้ยงของคุณบ้างไหม บ่อยครั้งหรือไม่ที่เจ้าตัวดีของคุณมีกลิ่นปากและคุณคงเคยคิดหาวิธีที่จะช่วยเหลือเจ้าตูบด้วยใช่ไหมล่ะ หากคำตอบของคุณมีคำว่าใช่เป็นส่วนใหญ่ นั่นหมายถึงว่าคุณเห็นความสำคัญ เกี่ยวกับสุขภาพฟันและเหงือกของสัตว์เลี้ยงของคุณ เพราะจริง ๆ แล้ว ในชีวิตประจำวันของเจ้าตูบหรือเจ้าเหมียวน้อยจำเป็นต้องใช้ฟันในการขบเคี้ยวอาหารต่าง ๆซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องมีฟันที่แข็งแรงและเหงือกที่สมบูรณ์ หากแต่ปัญหาทางช่องปากก็อาจ เกิดขึ้นได้ เช่น การมีกลิ่นปาก มีหินปูนเยอะ มีเลือดออกตามไรฟัน ฯลฯ หนทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก็คือ อาจเริ่มต้นจากที่ตอนพวกเขายังเล็ก ๆ เจ้าของควรพามาตรวจสุขภาพฟันและเหงือกตั้งแต่แรกเกิดหรือทุก ๆ 6 เดือน หมั่นแปรงฟันให้เขาบ้าง ให้เขาดื่มน้ำสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เมื่ออายุพอประมาณ 2-3 เดือนก็ควรหากระดูกเล็ก ๆ ให้เขาได้หัดใช้เขี้ยวและฟัน แต่ถ้าเจ้าตูบมีอาการขึ้นมาก่อนแล้วล่ะ เจ้าของก็ควรพาเจ้าสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลสัตว์ที่ให้บริการทางด้านทันตกรรม เช่นการขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน และเคลือบฟัน ตัดเขี้ยวหรือการแก้ไขปัญหาการ ไม่สบกันของฟัน เป็นต้น เท่านี้ฟันของเจ้าตัวดีทั้งหลายก็จะไม่สร้างปัญหาให้กับเจ้าของสัตว์และก็ตัวของเขาได้อีกต่อไป SZ : ด้วยความรู้โดยตรงจากผู้เลี้ยง การใช้กระดูกหนังที่มีตามร้านขายอาหารสุนัข ทั่วไป จะช่วยลดอาการกลิ่นปากของสุนัขที่เลี้ยง ได้เป็นอย่างดี ถ้าเกิดปัญหาสำหรับการที่เจ้าตูบไม่ชอบ ให้เวลาเจ้าตูบ คันฟันแล้วกัดของไม่เลือก ทำให้ข้าวของเสียหาย ช่วงแรกต้องพยายามเก็บของที่สำคัญไม่อยากให้เจ้าตูบกัดล่ะก็ ไว้ที่สูงๆ เข้าไว้ และพยายามโยนกระดูกชิ้นหนังนั้น ให้เจ้าตูบที่คันฟันแทนบ่อยๆ มันก็จะแทะกระดูกนั้นเอง ฝึกความเคยชิ้นให้เค้ารู้สึกว่า อย่างอื่นเค้ากัดไม่ได้ เค้าก็จะแทะสิ่งของที่เราให้เค้าไปเอง
โรคลำไส้อักเสบติดต่อ ยอดฮิตในสุนัข
เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อที่รุนแรงที่ทำลายระบบทางเดินอาหาร เม็ดเลือดขาว และในสุนัขบางตัวจะมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีการระบาดทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย การติดเชื้อของโรคลำไส้อักเสบ สามารถแพร่กระจายจากสุนัขตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง การติดต่อมีโอกาสมากขึ้นเมื่อสุนัขไปอยู่รวมกันมาก หรือแหล่งรวมสุนัขก็จะเป็นแหล่งที่ทำให้สุนัขปกติไปรับเชื้อมาจากการสัมผัสได้ สุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้าน หรือไว้ในคอก ในสวนมีโอกาสที่จะสัมผัส หรือเล่นกับสุนัขตัวอื่นได้ยาก จะมีโอกาสที่จะสัมผัสติดเชื้อไวรัสได้ยาก โรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อจะเกิดขึ้นเฉพาะแต่สุนัข หรือสัตว์ในตระกูลสุนัขเท่านั้น จะไม่ก่อให้เกิดโรคลำไส้ใน สัตว์ชนิดอื่นๆ หรือคน แต่สัตว์ชนิดอื่นๆ หรือคนสามารถที่จะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสมาติดกับสุนัขของตนเองได้ สุนัขสามารถติดเชื้อได้จากอุจจาระของสุนัขที่ป่วยเป็นโรค หรือของเหลวที่สุนัขป่วยอาเจียนออกมา ในอุจจาระของสัตว์ป่วยจะพบมีเชื้ออยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นไวรัสที่มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมาก ไวรัสสามารถแพร่กระจายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ด้วย การติดไปกับขน ผม หรือเท้าของสุนัขที่ป่วย หรือติดเชื้อ อาจจะปนเปื้อนไปกับกรง รองเท้า หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ
เราจะทราบได้อย่างไรว่าเจ้าตูบเป็นโรคลำไส้อักเสบ
อาการเริ่มแรกของสุนัขที่ติดเชื้อคือ ซึม เบื่ออาหาร อาเจียนและท้องเสีย อย่างรุนแรง อุณหภูมิของร่างกายอาจจะสูงขึ้น อุณหภูมิของร่างกายที่วัดจากทวารหนักของสุนัข มีค่าประมาณ 101º - 102ºF อาการป่วยดังกล่าวมักจะปรากฎขึ้นภายหลังจากที่สุนัขได้รับเชื้อ ไวรัสได้ประมาณ 5-7 วัน ในระยะแรกของการติดเชื้อ(แสดงอาการแล้ว) อุจจาระของสุนัขจะมีลักษณะเหลวมีสีออกเทา หรือเหลืองเทา ในบางครั้งอาการแรกเริ่มสุนัขอาจจะถ่ายเหลวโดยมีเลือดปนออกมาได้ เมื่อสุนัขมีการถ่ายเหลว หรืออาเจียนอย่างรุนแรง ทำให้สุนัขสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว สุนัขป่วยบางตัวจะมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงและถ่ายอุจจาระเป็นน้ำสีน้ำตาลจนถึงสีแดง(มีเลือดปน)พุ่งจนตายได้ ในสุนัขบางตัวอุจจาระอาจจะมีลักษณะเหลวเท่านั้นและสามารถฟื้นตัวจากการป่วยได้ อาการป่วยมักพบว่า ลูกสุนัขจะแสดงอาการป่วยรุนแรงกว่าสุนัขโต สุนัขมักจะตายภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังจากที่เริ่มแสดงอาการ ลูกสุนัขมักจะตายด้วยภาวะช๊อค โดยมักจะเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อประมาณ 1-2 วัน ในอดีตพบว่าลูกสุนัขอายุน้อยกว่า 5 เดือนมีอัตราการป่วยค่อนข้างสูงและประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์จะตายจากการติดเชื้อนี้ ปัจจุบันเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนกันอย่างแพร่หลาย อัตราการป่วยและอัตราการตายจากการติดเชื้อจึงลดลง เว้นแต่เจ้าของ สุนัขไม่ค่อยสนใจฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับสุนัขเป็นประจำ โอกาสป่วยเป็นโรคจึงมีมากขึ้น ลูกสุนัขช่วงระหว่างหย่านม (1 เดือน)ถึงอายุ 6 เดือนเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรค ควรให้ความอบอุ่นกับร่างกายของสุนัขป่วยและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด.
การป้องกันโรคลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัข
การป้องกันโรคลำไส้อักเสบสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน คือ วัคซีนรวม ประจำทุกปี ซึ่งควรสอบถามสัตวแพทย์ถึงโปรแกรมการฉีดในลำดับต่อไปด้วย กรณีที่สุนัขที่เลี้ยงเกิดป่วยติดเชื้อ ต้องทำความสะอาดบริเวณกรง หรือคอก หรือที่อยู่ของสุนัขป่วย เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ด้วยยาฆ่าเชื้อ จำพวกยาทำความห้องน้ำ ครัว อย่าลืมว่าเชื้อไวรัสนี้ สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมได้เวลานานเป็นเดือนๆ เจ้าของสุนัขควรป้องกันไม่ให้สุนัขไปสัมผัสกับสิ่งขับถ่ายของสุนัขอื่นๆ เมื่อนำมันออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือนควรระมัดระวังอย่างยิ่ง สิ่งปฏิกูล หรือสิ่งขับถ่ายของสุนัขควรกำจัดทิ้งให้เร็วที่สุดไม่ควรกัก หมักหมมไว้ ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจสอบดูสิ่งขับถ่ายของสุนัขข้างบ้านด้วย และควรแนะนำให้ปฏิบัติตาม สุนัขจะได้ปลอดภัยไม่นำเชื้อมาให้กันและกัน ถ้าไม่แน่ใจว่าสุนัขของเรากำลังจะป่วยด้วยการติดเชื้อ โรคลำไส้อักเสบหรือไม่ ควร ปรึกษาสัตวแพทย์ การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
คำแนะนำสำหรับการเลี้ยงดูให้เจ้าตูบ มีสุขภาพดี
สัตว์เลี้ยงที่มีสุขภาพดีจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นเพื่อนที่มีความสุข เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีชีวิตที่ดี เจ้าของสัตว์จะต้องให้ความใส่ใจในการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดและควรทำเป็นประจำ เพื่อลดโอกาสการป่วยชองสัตว์ ดังนั้นเจ้าของสุนัขควรปรึกษา หรือนำสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ เมื่อพบว่า สุนัขมีอาการต่างๆ เหล่านี้
.พบมีสิ่งคัดหลั่งที่ผิดปกติออกจากจมูก ตา หรือช่องเปิดอื่นๆของร่างกาย
.สัตว์เลี้ยงไม่กินอาหาร มีน้ำหนักลดลง หรือกินน้ำมากขึ้นกว่าปกติ
.ขับถ่ายลำบาก หรือผิดปกติ หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้
.พบมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ หรือพบมีความดุร้ายขึ้นอย่างกระทันหัน หรืออ่อนเพลีย
.พบมีก้อนผิดปกติ เดินกระโผลกกระเผลก ลุกหรือนอนลำบาก
.มีการสั่นหัวมากผิดปกติ เกา หรือเลีย หรือกัดแทะตามลำตัวมากผิดปกติ
ลูกสุนัขที่ติดเชื้อลำไส้อักเสบดังกล่าว ที่ทำให้มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจมักจะมีอาการซึมและไม่ยอมดูดนมและตายอย่างรวดเร็ว ลูกสุนัขบางตัวอาจตายในอีกหลายวันต่อมา การติดเชื้อในลักษณะนี้ ยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะ ลูกสุนัขที่รอดชีวิตจะพบมีความเสียหายของหัวใจบางส่วน(ถาวร) ลูกสุนัขบางตัวอาจจะ ตายด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนต่อมา หลังจากที่หายป่วยแล้ว SZ : แนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ ดีกว่าค่ะ
การดูแลหูและโรคของหู อักเสบของสุนัข
เจ้าของสุนัขมักจะนำสุนัขของตนเองมาพบสัตวแพทย์และมักจะมาบ่นให้ฟังอยู่เสมอว่า "หูสุนัขของตนเองมีกลิ่นที่เหม็นน่ารังเกียจมากเลย มันเป็นอะไรหรือค๊ะ/ครับ?" หรือ"แมวของชั้นชอบเกาหูมากเลย มีขี้หูดำมาก ชั้นจะทำอย่างไรดี" หรือ "สุนัขของผมชอบเอาหูไปถูไปกับพรม แต่ผมไม่พบว่ามีความผิดปกติใดๆ เลย ทำไมเจ้าตูบของผมจึงเป็นอย่างนั้น" เหล่านี้เป็นคำถามที่สัตวแพทย์ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ อาการของโรคหู สุนัข หรือแมวที่มีอาการของโรคในช่องหูเราอาจจะพบว่าอาการเหล่านี้ได้
· มีกลิ่น ·
มีการเกาหู หรือเอาหู (หัว) ไปถูกับวัตถุ
· มีสิ่งคัดหลั่งออกมาจากช่องหู
· ช่องหู หรือใบหูมีสีแดง หรือบวม
· มีการสั่นหัว หรือเอียงหัวไปด้านใดด้านหนึ่ง
· มีอาการเจ็บรอบๆหู
· มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ซึม หรือหงุดหงิด
โรคของช่องหูเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากที่สุดในสัตว์เลี้ยง (ทั้งสุนัขและแมว) ส่วนใหญ่เป็นการอักเสบของช่องหูภายนอกที่เรียกว่า "otitis externa" ปัญหาช่องหูอักเสบพบได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสุนัขทั้งหมด จากการศึกษาสถิติการพบปัญหาช่องหูอักเสบในแมวพบได้ประมาณ 2 - 6.6 เปอร์เซ็นต์
สาเหตุของการเกิดช่องหูอักเสบ
ปัญหาโรคช่องหูสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เมื่อเราพบว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีปัญหาโรคของช่องหู สิ่งที่ต้องคิดถึงและเป็นสาเหตุโน้มนำที่เป็นไปได้ที่ทำให้เกิดปัญหาโรคของช่องหูภายนอกได้แก่ การแพ้ เช่น
· พยาธิภายนอก เช่น ไรในหู
· จุลินทรีย เช่น แบคทีเรีย และยีสต์
· สิ่งแปลกปลอม เช่น เกสรดอกไม้ หรือหนามของพืช
· การได้รับบาดเจ็บ
· มีความผิดปกติของฮอร์โมน
· สิ่งแวดล้อมภายในช่องหูที่ผิดปกติ เช่น มีความชื้นมากเกินไป และความผิดปกติทางกายวิภาคของช่องหู
· มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือทางภูมิคุ้มกัน และการเกิดเนื้องอก
การรักษา
การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โดยปกติการรักษาสภาพช่องหูให้มีความสะอาดอยู่เสมอจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับสัตว์เลี้ยงของท่าน
การทำความสะอาดหู
หูของสัตว์เลี้ยงมักจะเป็นรูปตัว" L" มากกว่าหูของคนและเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูจึงมักจะถูกเก็บสะสมอยู่บริเวณมุมของตัว "L" การกำจัดขี้หูที่สะสมในช่องหูสามารถทำได้ด้วยการใส่น้ำยาสำหรับทำความสะอาดหู(น้ำยาที่ดี)ลงไปในช่องหู น้ำยาล้างหูที่ดีควรมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ แต่ไม่ควรใช้วิธีการแทง กระแทกควรบีบนวดบริเวณโคนหูประมาณ 20-30 วินาทีเพื่อทำให้เศษเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มและหลุ่ดออกมา ทำการเช็ดเอาเศษเนื้อเยื่อที่หลุดออกและใช้ก้านไม้ที่พันด้วยสำลีที่ชุบให้ชุ่มไปด้วยน้ำยาทำความสะอาดช่องหู ให้ทำซ้ำๆ กันจนไม่พบว่ามีเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูหลงเหลืออยู่ในช่องหูอีก ถ้าสภาพภายในช่องหูมีเนื่อเยื่อ หรือขี้หูมาก อาจจะทำความสะอาดตามวิธีดังกล่าววันละ 2 ครั้ง
อาจจะใช้ก้านไม้พันด้วยสำลี หรือ cotton bud ในการทำความสะอาดช่องหู และด้านในของใบหู แต่ไม่ควรแหย่ให้ลึกเข้าไปในช่องหูมากนัก เพราะจะทำให้ขี้หู หรือเศษเนื้อเยื่ออัดกันแน่นภายในช่องหูมากกว่าเป็นการเขี่ยเอามันออกมา สัตว์บางตัวพบมีว่าปัญหาของช่องหูที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเจ็บปวด การทำความสะอาด หรือขณะให้การรักษาอาจจะมีความจำเป็นต้องทำให้สลบเสียก่อนแต่ในบางครั้งสัตว์จะไม่ยอมให้ทำความสะอาดหูของมัน เพราะมันไม่ชอบ มันรำคาญ เจ้าของจะต้องพูดคุยกับมัน ให้มันผ่อนคลายในระหว่างที่ทำความสะอาดถ้ามันเชื่อฟังควรต้องชมเชย ให้รางวัล หลังจากทำความสะอาดหูแล้ว ปล่อยให้มันสั่น หรือสะบัดหัวได้และปล่อยให้แห้ง หลังจากนั้นจึงค่อยใส่ยาให้
การป้องกันโรคหู
หัวใจที่สำคัญในการทำให้ช่องหูมีสุขภาพดีคือ ความสะอาด ควรตรวจสอบช่องหูของสัตว์เลี้ยงของท่านทุกสัปดาห์ การพบว่ามีขี้หูเพียงเล็กน้อยถือว่าเป็นสิ่งปกติถ้าสัตว์เลี้ยงชอบเล่นน้ำมาก หรือมีใบหูยาวห้อย หรือมีประวัติโรคของช่องหู แนะนำให้ทำความสะอาดช่องหูเป็นประจำ(2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) ด้วยวิธีการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ถ้ารอบๆ ช่องหูมีขนยาวมาก ให้ตัดให้สั้น เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก การรักษาโรคของช่องหูควรรักษา หรือกำจัดสาเหตุของโรค ซึ่งเป็นเหตุโน้มนำทำให้เกิดปัญหาของช่องหูจึงจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด พึงระลึกไว้เสมอว่าถ้าสัตว์เลี้ยงของท่านรู้สึกไม่สะดวกสะบายกระวนกระวายอย่างมากแสดงให้เห็นช่องหูมีกลิ่นเหม็นมากหรือช่องหูมีความผิดปกติไม่ควรรีรอที่จะนำมันมาพบสัตวแพทย์ถ้าเยื่อแก้วหูของสัตว์เลี้ยงของท่านเกิดความเสียหายการใช้ยาบางชนิดหรือน้ำยาทำความสะอาดช่องหูบางชนิดอาจจะเป็นอันตรายมากกว่าเป็นการรักษาดังนั้นจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์
(คัดลอกมาจาก สะบัดทอค กับ ช๊อปสะบัด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น