...ยินดีต้อนรับท่านสู่...โครงการของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช...(กิจกรรทความรู้รอบตัว)ภายใต้การบริหารจัดการ..ของ...นายมนัส ชุมทอง...ปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี..

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โรคเลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู)

โรคเลปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู)
lepto
โรคเลปโตสไปโรซิส คืออะไร?
เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคฉี่หนู ติดโรคได้ในสัตว์หลายชนิด ส่วนมากสัตว์ที่ไวต่อการรับเชื้อมักจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุน้อย หรือลูกสัตว์ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่มาก่อน เช่น หนู โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และสุนัข เป็นต้น

สาเหตุของโรคเกิดจากอะไร?lepto

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ เลปโตสไปรา (Leptospira) มีลักษณะเป็นเส้นเกลียวยาว ปลายโค้งงอคล้ายตะขอ เคลื่อนไหวรวดเร็ว โดยการหมุนหรือโค้งงอ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ก่อให้เกิดโรค และ กลุ่มที่ไม่ก่อให้เกิดโรค เชื้อนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้น เช่นในดิน โคลน แอ่งน้ำ ที่มีค่า pHปานกลาง หรือค่อนไปทางด่างเล็กน้อย (pH7.2 - 8.0) เชื้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนที่อุณหภูมิประมาณ 28 –32 องศาเซลเซียส และจะไม่สามารถเติบโตได้ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 7 – 10 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 34 – 36 องศาเซลเซียส
การระบาดของโรคเป็นอย่างไร?
พบโรคฉี่หนูนี้ได้ทั่วโลกยกเว้นเขตขั้วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งในเขตเมืองและชนบท เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เกิดในสัตว์ได้หลายชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าจึงเป็นแหล่งรังโรคที่ปล่อยเชื้อมาจากปัสสาวะ โดยอาจติดโรคโดยตรงจากการสัมผัสปัสสาวะหรือจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ ในเขตหนาวมักจะพบโรคมากในฤดูอบอุ่น ในเขตร้อนชื้นเกิดโรคได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว
โรคนี้สามารถติดต่อได้อย่างไร?
1. เชื้อสามารถไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผลและรอยขีดข่วน เยื่อบุต่างๆ เช่น ตา และปาก นอกจากนี้ยังสามารถไชเข้าทางผิวหนังปกติที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนานๆ
2. การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
3. การหายใจเอาไอละอองของปัสสาวะ หรือที่เกิดจากของเหลวที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
4. การสัมผัสกับเชื้อจากสิ่งที่ขับออกมากับลูกสัตว์ที่แท้ง หรือ ลูกตายแรกคลอด
โรคเลปโตสไปโลซิสในคนlepto
ระยะฟักตัว 2 - 30 วัน (เฉลี่ย 10 วัน)อาการในคนอาจแตกต่างกันออกไป อาจมีอาการอย่างอ่อนจนถึงขั้นรุนแรง ขึ้นกับชนิดและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (มักปวดที่น่อง, โคนขา, กล้ามเนื้อหลัง และท้อง) ตาแดง อาจมีไข้ขึ้นลงสลับติดต่อกันหลายวัน ในรายที่รุนแรง พบว่ามีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีผื่นที่เพดานปาก โลหิตจาง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ ตับและไตวาย ดีซ่าน อาการที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้ความรู้สึกสับสน เพ้อ ซึม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ ไอมีเสมหะ อาจมีเลือดปน และเจ็บหน้าอก
การทำลายเชื้อทำได้อย่างไร?
เชื้อจะตายได้ เมื่อ
- ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) สูงกว่า 8.0 หรือต่ำกว่า 6.5
- ความเค็ม เช่น น้ำทะเล
- ที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือ 70 องศาเซลเซียส 10 วินาที และแสงแดดสามารถทำลายเชื้อได้
- ความแห้งสามารถทำลายเชื้อได้ ในพื้นดินที่แห้ง เชื้อจะตายในไม่กี่ชั่วโมง
- น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ไอโอดีน คลอรีน และน้ำยาทำความสะอาด (Detergents) รวมทั้งสบู่สามารถฆ่าเชื้อได้
การป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคเลปโตสไปโรซิสได้อย่างไร?
- หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด เป็นต้น
- หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้า ให้มิดชิดขณะต้องทำงานสัมผัสน้ำ ดิน โคลน หรือในที่ชื้นแฉะ หากไม่มีชุด ป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานานๆ และเมื่อเสร็จงานแล้วควรรีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว
- ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบหรือผักสดที่เก็บมาจากท้องทุ่งนา หรือในที่ที่อาจปนเปื้อนฉี่หนู หรือปัสสาวะของโค กระบือหรือสุกร เป็นต้น

อาการในสัตว์lepto

อาการของโรคจะไม่ค่อยรุนแรง โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้

- สัตว์จะไม่ค่อยแสดงอาการป่วย
- มักพบอาการผิดปกติ ในสัตว์ตั้งท้องเป็นส่วนใหญ่
- สัตว์ป่วยจะมีการแพร่เชื้อทางปัสสาวะค่อนข้างนาน
ระยะเฉียบพลัน
อาการเริ่มต้นของโรคเลปโตสไปโรซิสในสัตว์ที่ป่วยระยะเฉียบพลันจะคล้ายคลึงกัน และไม่มีลักษณะเฉพาะ อาการที่พบคือ มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร เยื่อบุตาอักเสบ อาการอื่นนอกจากนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการ อาเจียน ท้องเสีย ชัก มีเลือดออก ซีด ดีซ่าน มีอาการทางระบบประสาท ตับโต ไตล้มเหลว แท้ง ตายแรกคลอด และเต้านมอักเสบในช่วงท้ายๆ ของระยะเฉียบพลัน
ระยะเรื้อรัง
เชื้อจะไปอยู่ที่ไต ทำให้ไตอักเสบ มักพบในสัตว์ที่ผ่านระยะเฉียบพลันไปแล้ว โดยอาจแสดงหรือไม่แสดงอาการป่วย เชื้อจะถูกขับออกมาจากปัสสาวะ เชื้อในระยะนี้ตรวจพบและวินิจฉัยได้จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพราะสัตว์จะไม่แสดงอาการให้ทราบlepto



ที่มา.....ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น