...ยินดีต้อนรับท่านสู่...โครงการของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช...(กิจกรรทความรู้รอบตัว)ภายใต้การบริหารจัดการ..ของ...นายมนัส ชุมทอง...ปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี..

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การแก้ไขปัญหาทางการสืบพันธุ์โคนม

ปัญหาทางการสืบพันธุ์เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตของฟาร์มสูง การให้การจัดการที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันและการเข้าใจปัญหาแล้วทำการแก้ไขให้เร็วจะช่วยลดความสูญเสียได้
1.การแก้ไขปัญหาผสมติดยาก
ตรวจการเป็นสัดให้ถูกต้อง และให้ทำการผสมเทียมในเวลาเหมาะ
การตรวจสัดที่ดี
• เกษตรกรควรตรวจสัด ช่วงเช้า ตอนโคเดินเข้ามารีดนมช่วงเช้าและช่วงเย็น และช่วงหัวค่ำ โดยแต่ละครั้งควรนาน 20-30 นาที
• พื้นที่ที่โคพักควรเป็นพื้นที่เรียบไม่แข็ง ไม่ควรมีก้อนหินขรุขระ และให้อยู่รวมในฝูงไม่แยกเดี่ยว
• โคที่ยืนนิ่งให้โคตัวอื่นปีนเป็นโคที่เป็นสัดจริง
• เวลาที่เหมาะในการผสมมากที่สุดคือช่วง 12-16 ชม.หลังโคเริ่มยืนนิ่งเป็นสัด

สาเหตุที่ทำให้การจับสัดในฟาร์มผิดพลาดมากคือ
1. สภาพโรงเรือน พื้นคอกพักที่ไม่เหมาะสม ทำให้โคแสดงอาการเป็นสัดได้ไม่ชัดเจน
2. หมายเลขประจำตัวโคไม่ชัดเจน
3. ความผิดพลาดของการบันทึกอาการโคที่ใกล้เป็นสัดและอาการโคที่เป็นสัดจริง
4. มีการตรวจการเป็นสัดไม่เพียงพอ อาจเป็นเพราะเจ้าของฟาร์มมีงานมาก หรือไม่ให้เวลาหรือให้ความสำคัญในการจับสัด หรือไม่นำวิธีการอื่น ๆ เข้าช่วยการจัดการจับสัดในโคในฝูง

เทคนิคการผสมเทียมที่ดีช่วยเพิ่มการผสมติด
การผสมเทียม ต้องทำอย่างสะอาดถูกต้อง ทั้งการละลายน้ำเชื้อและการบรรจุปืนฉีดน้ำเชื้อ ที่สำคัญน้ำเชื้ออสุจิต้องมีคุณภาพดี และเกษตรกรควรทราบประวัติพันธุกรรมของพ่อโค ด้วยเป็นการปรับปรุงพันธุ์โคในฝูงและต้องไม่เป็นทางแพร่โรคทางการสืบพันธุ์
โคควรถูกตรวจท้องหลังผสม 60 วัน บันทึกการท้องและกำหนดคลอด

ประเมินประสิทธิภาพการผสมเทียม
• ลงบันทึกข้อมูลการผสมเทียมทุกครั้ง ทั้งวันที่ผสมและชื่อพ่อพันธุ์ที่ใช้
• โคสาวควรเป็นสัดและผสมติดที่อายุ 15-18 เดือน น้ำหนักประมาณ 280-300 กก. คลอดลูกตัวแรกที่อายุไม่เกิน 27-30 เดือน
• แม่โคหลังคลอดควรเป็นสัดและได้รับการผสม 60 วันหลังคลอด โคส่วนใหญ่ในฝูงควรผสมติดภายใน 100 วันหลังคลอด

มีปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการผสมติดคือ
1. การทำการผสมเทียมในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นกับการจับสัดที่ถูกต้อง
2. เทคนิคการผสมเทียมที่ถูกต้องสะอาดและการเก็บรักษาคุณภาพน้ำเชื้อแช่แข็ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำการผสมเทียมเอง
3. สภาวะอาหารและสุขภาพความสมบูรณ์ของแม่โคและโคสาว ณ เวลาที่ทำการผสมเทียม และภายหลังการผสมเทียม
4. การที่มดลูกเข้าอู่สมบูรณ์ไม่มีการติดเชื้อในมดลูกและมีความพร้อมที่จะรับการตั้งท้อง โดยเฉพาะในการผสมครั้งแรก

2. มดลูกอักเสบ

มดลูกอักเสบเฉียบพลัน
ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระยะแรกหลังคลอดภายใน 7 วัน มักพบในแม่โคที่มีปัญหาคลอดยาก ต้องมีการช่วยคลอดโดยดึงลูกออก ลูกตายเริ่มเน่าขณะช่วยดึงออก หรือมีปัญหารกค้าง มดลูกทะลักหลังคลอด แม่โคอาจแสดงอาการเบ่งเป็นระยะพบของเหลวที่มีกลิ่นเหม็นเน่าออกจากช่องคลอดสีน้ำเลือด และอาจพบช่องคลอดอักเสบร่วม
อาการ การตรวจร่างกายพบว่าแม่โคมีไข้ ชีพจรสูงขึ้น อัตราการหายใจเร็วขึ้น ต้องแยกให้ออกจากอาการของเต้านมอักเสบ ปอดอักเสบ ให้ทำการตรวจทางทวารหนักอย่างนุ่มนวล ตรวจประเมินการเข้าอู่ของมดลูก และลักษณะมดลูกว่าขนาดเท่าใดมีของเหลวภายในมากเพียงใด
การรักษา ให้ยาชาเฉพาะที่โคนหางเพื่อให้แม่โคลดการเกร็งเบ่งขับของเสียในมดลูก ให้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างทางระบบร่วมกับให้ทางมดลูก (ควรเลือกยาที่เตรียมเฉพาะใช้กับระบบสืบพันธุ์) ให้สารน้ำและยาลดไข้ลดอักเสบกรณีมีไข้สูงและให้การดูแลพยาบาลที่ดี
พยากรณ์โรค แม่โคที่มีการติดเชื้อและสร้างสารพิษเข้าทางระบบอาจตายได้ ในรายที่ตอบสนองการรักษาอาการจะดีขึ้นภายใน 24 ชม. และให้ทำการตรวจช่องคลอดและล้างมดลูก แม่โคที่มีปัญหามดลูกอักเสบหลังคลอดมักพบว่าเป็นมดลูกอักเสบเรี้อรังตามมา

มดลูกอักเสบเรื้อรังและมดลูกเป็นหนอง
พบในโคบางรายเคยเป็นมดลูกอักเสบเฉียบพลันมาก่อน ส่วนใหญ่มดลูกไม่สามารภกำจัดเชื้อแบททีเรียที่ปนเปื้อนที่ติดมาในระยะคลอดลูกออกได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคที่เรียเข้าช่องคลอดจำนวนมากเกินกว่าแม่โคจะทำการกำจัดเชื้อได้เองโดยธรรมชาติ มักพบมากในแม่โคมีปัญหารกค้างหลังคลอด มดลูกเข้าอู่ช้า มีการกลับมามีวงจรการเป็นสัดหลังคลอดช้า มีเนื้อเยื่อเสียหายขณะคลอด หรือระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในฟาร์มที่พบแม่โคมีปัญหามดลูกอักเสบสูงในบางปี น่าเป็นผลจากการจัดการขณะคลอดไม่สะอาด และอาจเป็นผลร่วมจากวิตามินแร่ธาตุในอาหารไม่สมดุล
อาการ แม่โคไม่แสดงอาการมีไข้ การกินอาหารและการให้นมปกติ ตรวจช่องคลอดพบหนองปนเมือกอยู่หน้าช่องคลอด การล้วงตรวจทางทวารหนักพบว่ามีปีกมดลูกขนาดใหญ่กว่าขนาดที่ควรเป็น การเข้าอู่ช้ากว่าปกติ และรู้สึกว่ามดลูกมีลักษณะบวม ในบางรายมดลูกขยายใหญ่มาก มีหนองอยู่ภายในผนังมดลูกหนา เป็นลักษณะมดลูกเป็นหนอง รังไข่อาจยังไม่เริ่มทำงาน หรือบางตัวอาจเริ่มมีวงรอบแล้ว
การแก้ไขรักษา ในรายที่แม่โคมีคอร์ปัสลูเทียมในรังไข่ให้สารโปรสตาแกลนดินเพื่อสลายคอร์ปัสลูเทียม และทำให้แม่โคเป็นสัดเพื่อให้คอมดลูกเปิดและขับหนองออกแล้วจึงทำการล้างมดลูก ทำการล้างมดลูกใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิกว้าง ไม่ระคายเคืองผิวมดลูก (ควรเลือกยาที่เตรียมเฉพาะใช้กับระบบสืบพันธุ์) โดยต้องงดส่งเนื้อขายตามกำหนด และให้ยาปฏิชีวนะออกฤทธิกว้างเข้าทางระบบด้วย
ผลต่อความสมบูรณ์พันธุ์ พบว่าการเป็นมดลูกอักเสบจะมีผลให้แม่โคมีความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำลง ระยะห่างการตกลูกยาวขึ้น แม่โคบางตัวอาจเป็นหมันด้วยมีความเสียหายของมดลูกและท่อนำไข่ อาจมีผลทำให้แม่โคบางตัวไม่แสดงอาการเป็นสัด
3.รกค้าง
รกคือเนื้อเยื่อส่วนของลูกที่เกาะกับผนังมดลูกของแม่ โดยในโคการเกาะติดเป็นแบบคล้ายเม็ดกระดุม โดยปกติส่วนเยื่อหุ้มตัวลูกหรือรก จะถูกขับออกจากตัวแม่ภายใน 3-8 ชม. หลังคลอดลูก มีขบวนการคือหลังจากที่ลูกถูกขับออกไปเมื่อคลอด สายสะดือขาดและไม่มีเลือดมาเลี้ยงถุงหุ้มตัวลูก เลือดที่เคยมาเลี้ยงตัวลูกจำนวนมากจะลดลงอย่างมากทันที ส่วนของแม่จะมีขนาดเล็กลงเพราะเลือดมาเลี้ยงลดลงเช่นกัน โดยรูปร่างกระดุมจะเปลี่ยนจากรูปรีเป็นทรงกลม ช่วยให้เนื้อเยื่อส่วนของลูกหลุดออกจากกระดุมได้ง่ายขึ้นระหว่างการบีบตัวของมดลูกหลังคลอด น้ำหนักของรกเองจะช่วยให้รกหลุดตกออกจากมดลูกได้ดีขึ้น การที่รกค้างอยู่ในมดลูกหลุดออกมาช้ากว่า 12 ชั่วโมงหลังคลอด มักมีความผิดปกติในขบวนการลอกหลุดของเนื้อเยื่อยึดเกาะระหว่างแม่และลูกภาวะรกค้างจะพบมากในโคมากกว่าในสัตว์ชนิดอื่นๆ รกค้างจะเป็นสาเหตุเกี่ยวเนื่องนำไปสู่ปัญหาโรคมดลูกอักเสบมดลูกเป็นหนอง โดยมักเกิดในขบวนการคลอดที่ไม่ปกติทำให้เกิดรกค้างตามมาและเป็นสิ่งโน้มนำให้มีการติดเชื้อเข้าสู่มดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่โคมีปัญหาความไม่สมบูรณ์พันธุ์และผสมติดยาก
อัตราการตายต่ำประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่พบปัญหามดลูกอักเสบ น้ำนมลด ผสมติดยาก ตามมา โดยอัตราการเกิดสูงมากในระดับ 20, 50 หรือถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับการจัดการในขณะคลอด และภาวะสมดุลของอาหารวิตามินแร่ธาตุในฟาร์ม
การแก้ไขและรักษา
ใช้วิธีตัดส่วนที่ห้อยออกจากปากมดลูกให้สั้นที่สุด แล้วให้ยาปฏิชีวนะทางช่องคลอดเข้าในมดลูก ทำการสอดเข้าในมดลูกให้ลึกและต้องทำอย่างสะอาดที่สุด แนะนำการให้ยาปฏิชีวนะออกซี่เตตร้าไซคลินขนาด 1-3 กรัม เข้าในมดลูก จะช่วยลดการอักเสบและติดเชื้อได้ดี แต่จะมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะลงในน้ำนม 24-48 ชม. ที่จะต้องงดส่งนม กรณีที่แม่โคมีอาการป่วยแทรกซ้อน ต้องให้การรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะทางระบบ การให้ยาลดไข้และยาอื่นๆ ที่เหมาะสมตามอาการของโค รกที่เหลือค้างอยู่จะหลุดออกเองได้ภายใน 10-15 วัน โคที่ไม่ปลดรกพบว่ามีอัตราการผสมติดและความสมบูรณ์พันธุ์ดีกว่าโคที่ปลดรก ไม่แนะนำให้ทำการปลดด้วยมือด้วยจะเกิดความชอกช้ำในมดลูก มีผลให้เกิดการเสียหายมดลูกอักเสบและผสมติดยากตามมา
การควบคุมและป้องกัน
การเสริมไวตามินและแร่ธาตุ มีรายงานการเสริมไวตามินเอ อี ซีลีเนียม ในระยะก่อนคลอดทั้งแบบผสมอาหารและแบบฉีดพบว่าลดอุบัติการณ์การเกิดรกค้างได้ ด้วยสารเหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดการติดเชื้อและการอักเสบได้ระดับไวตามินอีที่แนะนำผสมในอาหารเป็น 400-1,000 มก.ต่อวัน แบบฉีดเข้ากล้าม 7-14 วันก่อนคลอดแนะนำให้ในขนาด 680-3,000 มก.ต่อวัน มีรายงานการให้ไวตามินอีร่วมกับซีลีเนียม พบว่าให้ผลในการป้องกันรกค้างได้ดีกว่าการให้ไวตามินอีอย่างเดียว โดยขนาดที่แนะนำให้เสริมในอาหารคือไวตามินอี 400-800 ไอยู./วันร่วมกับซีลีเนียม 3-6 มก./วัน
การจัดการภายในฟาร์ม มีการจัดการขณะคลอดให้สะอาดลดการติดเชื้อเข้าช่องคลอด มีคอกพักรอคลอดเป็นสัดส่วนแห้งและสะอาด มีการจัดการโคในฟาร์มให้ปลอดจากโรคทางการสืบพันธุ์ โดยเฉพาะโรคแท้งติดต่อต้องปลอดโรคในฝูง เพื่อลดปัญหาแท้งและเกิดรกค้างตามมา ทำการป้องกันการเกิดโรคไข้น้ำนม เช่นปรับสูตรอาหารในระยะพักรีดนม เช่นให้สัดส่วนแคลเซียมลดลง การให้ไวตามินดีก่อนคลอด การจัดการอาหารให้สมดุลในระยะใกล้คลอดและหลังคลอด การไม่ให้แม่โคอ้วนเกินไปในระยะพักรอคลอด

4.โรคถุงน้ำในรังไข่
ถุงน้ำในรังไข่เป็นความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ที่พบได้บ่อยในโค โดยมีรายงานพบได้มากในโคนม นับเป็นโรคที่นำความสูญเสียทางเศรษฐกิจในฟาร์มโคนมที่สำคัญโรคหนึ่ง รังไข่ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่ คือรังไข่ที่มีลักษณะกระเปาะที่มีของเหลวที่ขนาดใหญ่กว่าไข่ (ฟอลลิเคิล) ที่โตเต็มที่ก่อนตกในวงรอบการเป็นสัดตามธรรมชาติ (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2.5 ซม.) อาจมี 1 ใบ หรือมากกว่าก็ได้ ซึ่งลักษณะโครงสร้างนี้คงอยู่ได้นานกว่า 10 วัน และมีผลทำให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดไปจากปกติ
ถุงน้ำในรังไข่ เป็นผลจากการไม่ตกไข่ตามปกติของฟอลลิเคิลที่เจริญเต็มที่ เป็นผลให้ไม่มีวงรอบการเป็นสัดตามปกติ ทำให้แม่โคแสดงอาการไม่มีวงรอบการเป็นสัดหรือเป็นสัดบ่อยๆ
สาเหตุโน้มนำ
โรคถุงน้ำในรังไข่ มักเป็นผลร่วมกันระหว่าง การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความเครียด การให้ผลผลิตน้ำนมมาก อายุโค และผลจากอาหาร อุบัติการณ์เกิดโรคถุงน้ำในรังไข่พบมากในโคอายุ 4-6 ปี โดยพบได้น้อยมากในแม่โคท้องแรก และมีความสัมพันธ์กับการให้ผลผลิตน้ำนมโดยแม่โคให้ผลผลิตน้ำนมสูงจะพบการเกิดโรคได้สูง และพบว่าโคที่เคยเป็นโรคนี้ในท้องที่ผ่านมาจะพบการเป็นโรคนี้ได้อีกในท้องต่อไป
การรักษา
ปัจจุบันการรักษาด้วยฮอร์โมนเป็นแนวทางการรักษาที่แนะนำให้ใช้ หากโคมีอาการเป็นสัดไม่ปกติให้แจ้งนายสัตวแพทย์ ทำการตรวจรักษาการให้การรักษาเร็วจะเพิ่มโอกาศหายจากโรคได้
การป้องกันโรคถุงน้ำในรังไข่
• คัดเลือกสายพันธุ์โคพ่อพันธุ์ ญาติพี่น้องของแม่พันธุ์และตัวแม่พันธุ์เองต้องไม่มีประวัติเป็นถุงน้ำในรังไข่
• ป้องกันโดยไม่ให้โคอ้วนในระยะพักรีดนม (ไม่ควรมีคะแนนความสมบูรณ์ของรูปร่างมากว่า 4.0)
• มีโปรแกรมการล้วงตรวจระบบสืบพันธุ์หลังคลอด 45-60 วัน และต้องตรวจโคทุกตัวที่ไม่แสดงอาการเป็นสัดหลังคลอด 60 วัน หรือเป็นสัดบ่อยๆ เป็นสัดไม่ตรงรอบ เพื่อให้การรักษาได้เร็วช่วยให้การตอบสนองต่อการรักษาได้ดี

5.มดลูกทะลัก ช่องคลอดทะลัก

ช่องคลอดทะลัก และ/หรือ มดลูกทะลักในโค ส่วนใหญ่จะพบในแม่โคอายุมาก ภาวะแคลเซียมต่ำในระยะใกล้คลอดหรือขณะคลอดโดยที่แม่โคอาจมีอาการไข้น้ำนมและแม่โคลงนอน หรือบางรายอาจไม่มีอาการของไข้น้ำนมก็ได้ อาจพบในแม่โคที่มีปัญหาคลอดยากโดยเฉพาะมีการช่วยคลอดโดยการดึงลูกพบมากในโคสาวท้องแรก มีประวัติช่องคลอดทะลักก่อนคลอดแล้วพบว่ามีโอกาสเกิดมดลูกทะลักหลังคลอดได้ มีปัญหารกค้างแล้วเกิดมดลูกทะลักตามมา
การแก้ไขจัดการ เจ้าของโคต้องตรวจพบการทะลักและจัดการดูแลให้เร็วที่สุด เมื่อพบว่าแม่โคเกิดมดลูกทะลัก โดยแยกแม่โคที่มดลูกทะลักออกจากฝูงให้อยู่คอกเดี่ยวเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดจากโคตัวอื่นที่จะมาดมเลีย กระแทกมดลูกส่วนที่ทะลักออกมา หาผ้าสะอาดที่เปียกมาหุ้มห่อส่วนที่ทะลักออกมาไว้ หากเป็นไปได้ให้พยายามช่วยประคองส่วนที่ทะลักออกมาเพื่อลดการคั่งของเลือดในส่วนนี้ จนกว่าสัตวแพทย์จะมาถึง แจ้งสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด
ให้ยาชาเฉพาะที่โคนหางเพื่อให้แม่โคลดการเกร็งเบ่งบีบมดลูก ทำความสะอาดมดลูกโดยน้ำเกลือหรือน้ำอุ่นที่สะอาดโดยไม่ผสมยาฆ่าเชื้อ ด้วยอาจมีฤทธิ์กัดทำลายเนื้อเยื่อมดลูกได้ ตรวจสอบส่วนที่ทะลักออกมาว่ามีการฉีกขาดที่ส่วนใด หากมีให้ทำการเย็บให้เรียบร้อย ช่วยดันมดลูกกลับอย่างนุ่มนวลและมั่นคง กรณีมดลูกหรือช่องคลอดออกมามากและนานอาจบวมน้ำต้องลดการบวมโดยใช้น้ำตาลทราย 2-3 กก. โรยส่วนที่ยื่นออกมา จะช่วยลดขนาดและดันกลับได้ง่ายขึ้น หลังดันมดลูกกลับเข้าที่แล้ว ให้ยาปฏิชีวนะชนิดที่เตรียมเพื่อให้ทางมดลูกผ่านเข้าทางช่องคลอด และให้ยาปฏิชีวนะชนิดออกฤทธิ์กว้างเข้าทางระบบ เย็บปากมดลูกโดยวัสดุที่ใช้เหมาะสม ให้ทำการตรวจซ้ำหลังการแก้ไข 24 ชม. เอาวัสดุเย็บออกเมื่อแน่ใจว่าขนาดมดลูกเล็กลงและคอมดลูกหดตัวเล็กลงไม่มีโอกาสที่มดลูกจะทะลักกลับมาอีก (ประมาณ 7-10 วัน) ให้ติดตามรักษาปัญหามดลูกอักเสบที่อาจพบตามมาได้
การจัดการที่ดีในระยะพักรีดนมหรือระยะรอคลอดและขณะคลอดลูก จะลดปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ เช่น

• ระยะพักรอคลอดอย่าให้แม่โคอ้วน (คะแนนความสมบูรณ์รูปร่างน้องกว่า 4)
• ปรับอาหารในระยะพักรอคลอดให้สัดส่วนแคลเซี่ยมต่ำลง เพื่อป้องกันปัญหาไข้น้ำนมหลังคลอด
• ให้วิตามิน เอดีอี ก่อนคลอด 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยลดปัญหารกค้างและไข้น้ำนมหลังคลอด
• ขณะรอคลอด คอกพักรอคลอดต้องแห้งสะอาด หากต้องช่วยคลอดให้ทำอย่างสะอาดนุ่มนวล และหากช่วยดึงลูกในช่องคลอดต้องสอดยาปฏิชีวนะเข้าช่องคลอด ดูอาการแทรกซ้อน การกินอาหาร การให้น้ำนม ตรวจวัดไข้ และแจ้งสัตวแพทย์หากแม่โคมีอาการผิดปกติ

การจัดการเพื่อให้แม่โคมีประสิทธิภาพทางการสืบพันธุ์ที่ดี
ในฝูงที่มีสถานะความสมบูรณ์พันธุ์ต่ำจะต้องมีการปรับแก้ปัญหา และฝูงที่มีความสมบูรณ์พันธุ์ดีต้องรักษาระดับความสมบูรณ์ให้คงดีตลอดเวลา หัวใจสำคัญในการรักษาให้ความสมบูรณ์พันธุ์อยู่ในระดับดีตลอดคือ
• การมีข้อมูลที่บันทึกถูกต้องและเป็นปัจจุบันมากที่สุด
• มีการค้นหาโคที่มีปัญหาเพื่อทำการรักษาแก้ไข
• การตรวจแม่โคอย่างสม่ำเสมอ และติดตามผลการรักษาในโคที่มีปัญหาความสมบูรณ์พันธุ์ ประสิทธิ์ผลของการจัดการจะได้เมื่อมีการนำไปปฏิบัติโดยมีบุคลากรในฟาร์มงานร่วมกัน คือ เกษตรกรเจ้าของฟาร์ม หรือผู้จัดการฟาร์มที่มีความกระตือรือร้นและความรับผิดชอบสูง ทำงานร่วมกับนายสัตวแพทย์ และผู้ผสมเทียมในฟาร์ม

โคที่ต้องทำการตรวจระบบสืบพันธุ์และสุขภาพ
การค้นหาโคที่มีปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาทางการสืบพันธุ์ได้เร็ว จะช่วยการลดการสูญเสียจากการผสมติดยากได้ ประวัติโคเหล่านี้ได้จากบันทึกของฟาร์ม โคที่มีประวัติต่อไปนี้ต้องนำมาตรวจ
• โคที่มีปัญหาคลอดยาก รกค้าง มดลูกอักเสบ และมีอาการแทรกซ้อนหลังคลอด ควรทำการตรวจระบบสืบพันธุ์หลังคลอด
• โคที่มีเมือกที่ผิดปกติออกมาจากช่องคลอด เช่น หนอง เมือกขุ่น
• โคที่แท้ง
• โคที่แสดงการเป็นสัดบ่อย เป็นสัดไม่ปกติ ไม่ตรงรอบ
• โคที่ตรวจไม่พบว่าการเป็นสัด 42 วันหลังคลอด และยังไม่ถูกผสม 63 วัน หลังคลอด
• โคที่ผสมแล้ว 42 วันไม่กลับเป็นสัดให้เป็น โคอาจท้อง หรืออาจเป็นสัดแล้วตรวจไม่พบ หรือมีความผิดปกติอื่นๆ
• โคไม่เป็นสัดหลังคลอด อาจเนื่องจากรังไข่ไม่ทำงาน หรือตรวจการเป็นสัดไม่ได้
• โคที่ผสมซ้ำมากกว่า 5 ครั้ง
• โคที่เคยตรวจว่าท้องแล้ว แต่แสดงอาการเป็นสัดในภายหลัง
• โคสาวที่ไม่เป็นสัดเมื่ออายุมากกว่า 15 เดือน

ควรมีการประเมินประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ของโคในฝูง อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ทราบว่าการจัดการฟาร์มอยู่ในเกณฑ์ระดับใด ต้องเร่งหาสาเหตุและทำการแก้ไขที่ด้านใดก่อน โปรแกรมการจัดการฝูงโคเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มการผลิตในฟาร์มได้
ใครเป็นผู้วางเป้าหมายฟาร์ม
วางแผน
เป้าหมายฟาร์มของเกษตรกร
ประเมินสถานะภาพการผลิต นำไปการปฏิบัติ
ควรจัดการสิ่งที่เกษตรกรมองว่าเป็นปัญหา อันดับแรก ก่อน
ค่าเป้าหมายดัชนีการสืบพันธุ์และการผลิตอื่นๆ ในฝูงโคมีค่าดังนี้
อายุเฉลี่ยโคสาวเริ่มผสมพันธุ์ 15-18 เดือน
อายุเฉลี่ยคลอดลูกตัวแรก 27-30 เดือน
วันคลอดถึงผสมครั้งแรกเฉลี่ย 60 วัน
วันคลอดถึงผสมติดเฉลี่ย 100 วัน
จำนวนครั้งที่ผสมต่อการตั้งท้องเฉลี่ย 2.0 ครั้ง
อัตราการผสมครั้งแรกมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
โคผสมมากกว่า 3 ครั้ง น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
ระยะห่างวันตกลูกเฉลี่ย 365 วัน
อัตราโคแท้งน้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ค่าเป้าหมายเหล่านี้ เป็นตัวเลขที่แม่โคที่ปกติสามารถให้ผลผลิตและสืบพันธุ์ได้ และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจะได้รับสูงสุดจากการเลี้ยงโค ซึ่งในความเป็นจริงแม่โคไม่ทุกตัวในฟาร์มที่มีความสามารถในการผลิตได้ตามเป้าหมาย ทำให้ค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการผลิตจะไม่มีฟาร์มใดทำได้เท่าค่าเป้าหมาย แต่ฟาร์มที่มีค่าเฉลี่ยดัชนีการผลิตใกล้ค่าเป้าหมายมากที่สุดจะเป็นฟาร์มที่ได้รับผลกำไรจากการเลี้ยงโคมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น