...ยินดีต้อนรับท่านสู่...โครงการของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช...(กิจกรรทความรู้รอบตัว)ภายใต้การบริหารจัดการ..ของ...นายมนัส ชุมทอง...ปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี..

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED)

โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED)
กรมปศุสัตว์ขอแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศให้ระมัดระวังความเสียหายจากโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (Porcine epidemic diarrhea, PED) ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสในสกุลโคโรนาไวรัสสกุลเดียวกับโรค TGE (Transmissible gastroenteritis) ไวรัสจะเข้าไปทำลายเยื่อบุลำไส้ส่วนวิลไลในลำไส้เล็กเป็นผลทำให้พื้นที่ผิวของการดูดซึมสารอาหารน้อยลง ส่งผลทำให้เกิดการสูญเสียของเหลวและมีอาการขาดน้ำ ทำให้ลูกสุกรทรุดโทรมจนถึงตายได้
ในกรณีเฉียบพลันเสียหายรุนแรงเกิดเมื่อมีการติดเชื้อในครั้งแรกของสุกร อาจพบว่ามีการติดเชื้อในแม่พันธุ์ถึง 100% ที่แสดงอาการท้องเสียปานกลางถึงเป็นลักษณะน้ำและพบได้ในสุกรทุกอายุ แต่จะรุนแรงในลูกสุกรหย่านม โดย PED ที่เกิดมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ Type 1 จะสร้างความเสียหายและกระทบเฉพาะสุกรหลังหย่านม ในขณะที่ Type 2 จะสร้างความเสียหายและมีผลกระทบกับสุกรทุกช่วงอายุรวมทั้งสุกรดูดนม และแม่สุกรด้วย คล้ายกับโรคทีจีอี ระยะการฟักตัวของโรคประมาณ 2-4 วัน ในสุกรดูดนมอาจสร้างความเสียหายปานกลางหรือรุนแรงส่งผลให้เกิดการตายมากกว่า 40% ได้
แนวทางการควบคุมโรคเมื่อเกิดการระบาด
1. เมื่อเกิดปัญหาท้องเสียในสุกรหลายกลุ่มอายุพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะลูกสุกรดูดนมจะมีลักษณะเด่นคืออาเจียนเป็นนมที่แข็งตัวก่อนการท้องเสียรุนแรงเป็นน้ำสีเหลืองแกมเขียวในลูกสุกรหรือสีดำแกมเขียวในสุกรใหญ่ ให้นำลูกสุกรป่วย 2-3 ตัว หรืออุจจาระของลูกสุกรป่วยจำนวน 3-4 ตัวอย่าง (แช่น้ำแข็ง) ส่งตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อยืนยันโดยเร็วที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ประจำภาคหรือ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ
2. ถ้าพบว่าเป็นการระบาดของโรค PED ต้องพยายามลดความรุนแรงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในเล้าคลอด ด้วยการให้การรักษาตามอาการ ได้แก่
1) ให้ลูกสุกรกินยารักษาการท้องเสีย ที่เน้นควบคุมการแทรกซ้อนของเชื้อ E.coli เช่น กลุ่มยา colistin หรือ enrofloxacin ทั้งนี้หากมีตัวยา kaolin หรือ pectin ร่วมด้วยจะช่วยสมานและลดการอักเสบของลำไส้ได้ดีขึ้น
2) ให้สารน้ำอิเล็คโทรไลต์ ในรูปกรอกและละลายน้ำเพื่อลดการขาดน้ำและร่างกายเป็นกรดอย่างรุนแรงที่เป็นสาเหตุการตายทั้งนี้สารน้ำที่ใช้จะต้องไม่มียา ampicllin หรือ amoxycilin ปนอยู่เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาข้อบวมและชักตามมาในช่วงหลัง ซึ่งเป็นผลจากการขัดขวางการสัมผัสเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ
3) แม่ที่ป่วยด้วยโรค PED ในช่วงคลอด ต้องได้รับการรักษา เพื่อป้องกันปัญหานมแห้งอย่างรุนแรงตามมา ด้วยการฉีดยาด้านจุลชีพที่ออกฤทธิ์นานติดต่อกัน 2-3 วันร่วมกับยาลดไข้แก้ปวดในวันแรกของการรักษา
3. รีบสร้างภูมิคุ้มกันให้แม่สุกรอุ้มท้องทั้งหมดโดยเร็ว เพื่อหวังผลว่าแม่ที่จะเข้าคลอดในช่วง 2 สัปดาห์ถัดไป จะมีภูมิคุ้มกันถ่ายทอดทางนมน้ำเหลืองที่ดี ทำให้ลูกที่เกิดจากแม่เหล่านี้มีการป่วยและสูญเสียลดลงชัดเจน และโรคสงบในที่สุด วิธีการสร้างภูมิให้แม่อุ้มท้องได้แก่
1) ใช้อุจจาระของลูกที่ป่วยปนกับน้ำสะอาด (ไม่มีคลอรีน) พอสมควร เพื่อใช้ตักปนในอาหารแม่อุ้มท้องกินพร้อมกันทั้งฟาร์ม (ปริมาณที่ใช้เล็กน้อย เพราะมีปริมาณไวรัสมากพอ) 1-2 วันติดต่อกันเพื่อให้เกิดการติดเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกัน แม่สุกรที่ท้องเสียจะกลับเป็นปกติภายใน 2-3 วัน
2) ช่วงทำให้แม่อุ้มท้องติดเชื้อ จะต้องใช้ยา colistin (หรือยาอื่นที่ได้ผลใกล้เคียง) ขนาด 80-100 ppm เพื่อควบคุมการแทรกซ้อนของ E.coli ร่วมกับ amoxycilin (หรือยาอื่นที่ได้ผลใกล้เคียง) 250-300 ppm เพื่อควบคุมการแท้งจากเชื้อ Streptococus suis และภาวะไข้ช่วงการเกิดโรค PED โดยผสมยาในอาหารนานประมาณ 1 สัปดาห์
4. ภายหลังโรคสงบ ฟาร์มส่วนใหญ่จะมีความคุ้มโรคและไม่พบการเกิดโรคประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นอาจพบการท้องเสียประปรายในกลุ่มแม่อุ้มท้องโดยเฉพาะในสุกรสาว ในช่วงหน้าหนาวโดยเฉพาะในฟาร์มขนาดใหญ่ที่ขาดการทดแทนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสยังมีโอกาสหมุนเวียนสร้างการติดเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อเนื่องในฝูง เพียงแต่ไวรัสไม่คงทนต่อสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนในประเทศ ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการสร้างภูมิคุ้มกันระดับฟาร์ม
แนวทางการป้องกันโรค
เนื่องจากเป็นโรคที่มีสาเหตุจากไวรัส และยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยเน้นการควบคุมปัจจัยเสี่ยง
1. โรงเรือนเล้าจับขาย เป็นแหล่งง่ายสุดที่โรคจะเข้าฟาร์ม ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่มีการจับหมูขาย รถจับหมูต้องได้รับการล้างและฆ่าเชื้ออย่างดีก่อนเข้าบริเวณฟาร์ม
2. เข้มงวดเรื่องคนงานในเล้าคลอด ห้ามปะปนกับส่วนอื่น และเข้มงวดเรื่องการฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือน
3. อาจลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดในเล้าคลอดโดยการให้สารเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคท้องเสีย ให้ลูกสุกรแรกเกิดทุกตัวกิน(มีจำหน่ายที่ร้านขายยาสัตว์)
“หากผู้เลี้ยงสุกรตรวจพบสุกรแสดงอาการป่วยให้รีบแจ้งสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มหรือปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ทันที เพื่อช่วยเหลือควบคุมให้โรคสงบโดยเร็ว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น